Pages

Wednesday, July 29, 2020

กรมศิลป์ฯ ตรวจประตูวิหารโบราณวัดหมื่นล้าน พบยังลอกสีได้ลายเก่ายังอยู่ - ไทยรัฐ

lahngapaya.blogspot.com

เจ้าหน้าที่ศิลปากรที่ 7 เร่งกู้คืนสภาพเดิมประตูวิหารศิลปะโบราณล้านนา อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ของวัดหมื่นล้าน จ.เชียงใหม่ ที่ถูกทาสีทับ ส่วนฝาผนังถูกฉลุของเก่าตรวจสอบแล้ว ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว

จากกรณีวัดหมื่นล้าน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ได้มีผู้มีจิตศรัทธาของวัด อยากจะบูรณะพระวิหารของวัดใหม่ โดยได้ประสานกับทางเจ้าอาวาสวัด จากนั้นให้ช่างลงมือบูรณะวิหารทั้งหลัง โดยช่างได้ใช้สีทารองพื้นประตูพระวิหาร ที่มีลายรดน้ำเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี และยังมีการลงสีดำทับไปอีก หลังจากมีการทักท้วง ทางเจ้าอาวาสได้ให้พระลูกศิษย์ ประสานกับผู้มีจิตศรัทธาและช่างให้หยุดการบูรณะก่อน เพื่อรอการตรวจสอบและให้เตรียมหาช่างเพื่อมาวาดภาพกลับดังเดิม ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 29 ก.ค.63 นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ พร้อมด้วย นายเสน่ห์ มหาผล ผู้อำนวยการกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจากสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ร่วมกันเข้าดำเนินการตรวจสอบที่บริเวณวิหารวัดหมื่นล้าน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ถ.ราชดำเนิน ต.ศรีภูมิ เขต 2 อ.เมืองเชียงใหม่ ภายหลังจากที่ได้มีกระแสข่าวในสื่อและโลกโซเชียล เกี่ยวกับการดำเนินการบูรณะวิหารของวัด ที่ได้มีการซ่อมแซมประตูวิหาร และพื้นที่ภายในแต่ทางวัดได้มีการทาสีทับ และบางส่วนที่บริเวณฝาผนังด้านหลังองค์พระประธานได้ทำการลอกลายภาพอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี เพื่อเตรียมเขียนลายใหม่ จนทำให้เกิดความเสียหาย กับศิลปะล้านนา จนทำให้เกิดความไม่สบายใจและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เพราะการดำเนินการนั้นกลายเป็นการทำลายมรดกทางประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่ล้ำค่าของเมืองเชียงใหม่ ที่มีการสืบทอดกันมายาวนาน

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ที่บริเวณวิหารของวัดทั้งหลังนั้น ได้มีการดำเนินการซ่อมแซมบูรณะวิหารของวัดจนมีความคืบหน้าไปแล้วอย่างมาก และพบว่าที่บริเวณประตูวิหารนั้นถูกทาสีทับของเดิม กลายเป็นสีดำซึ่งจะเตรียมเขียนลวดลายใหม่ อีกทั้งด้านหลังองค์พระประธานของวิหารซึ่งแต่เดิมเป็นภาพวาดเก่าแก่นั้นได้ถูกปูนฉาบใหม่แล้ว โดยตรวจสอบทราบว่า ทางช่างที่ทำการซ่อมแซมนั้นได้มีการฉลุเอาเนื้อปูนเก่าที่มีลวดลายภาพวาดออกไปแล้ว และคาดว่าไม่สามารถดำเนินการกู้คืนของเดิมได้อีกต่อไป ส่วนที่บริเวณประตูของวิหารวัดที่มีการทาสีทับนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้มีการใช้น้ำยาสารเคมีทดลองลอกสีที่ทาทับออก ซึ่งปรากฏว่า สามารถดำเนินการลอกสีที่ทาทับได้ และพบว่าภาพวาดของเก่ายังคงอยู่ แต่อาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควรในการดำเนินการลอกสีที่ทาทับออกไป เนื่องจากพบว่าการทาสีนั้นถูกทาทับถึง 3 ชั้นด้วยกัน และอาจต้องใช้ความชำนาญพอสมควรในการดำเนินการกู้คืนของเดิม

นายเทอดศักดิ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากวัดแห่งนี้ทรุดโทรมตามกาลเวลา และต้องเร่งบูรณะใหม่ เพราะมีคณะศรัทธาของวัดเห็นและบริจาคเงินมา ซึ่งวัดเปรียบเหมือนบ้าน หากมีการผุพัง ก็ต้องมีการซ่อมแซมให้มั่นคงแข็งแรง ก็เป็นการดูแล แต่การบูรณะนั้นอาจจะผิดวิธีไปบ้าง หลังจากที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ทราบข่าวจึงได้ประสานทางวัดขอให้หยุดการซ่อมแซมไว้ก่อน กระทั่งได้เดินทางมาตรวจสอบวันนี้ และจากการสอบถามท่านเจ้าอาวาสวัดพบว่า ชั้นของสีที่ทาทับบนบานประตูวิหารวัดหมื่นล้าน ชั้นที่ 1 เรซิ่น เพื่อปรับผิวให้เรียบมีความหนาบางต่างกัน ชั้นที่ 2 เฟล็กซ์สีแดง มีลักษณะบาง และชั้นที่ 3 เฟล็กซ์สีดำ ปิดทับเพื่อรอการเขียนลายรดน้ำใหม่

ผอ.กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 กล่าวต่อว่า ส่วนกระบวนการขัดลอกสีที่ทาทับที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ ชั้นที่ 1 เรซิ่น เพราะเป็นวัสดุที่ไม่มีตัวทำละลาย และหากปล่อยไว้จะทำปฏิกิริยากับอากาศทำให้แข็งตัว จับยึดแน่นกับภาพลายรดน้ำเดิม แต่ชั้นเรซิ่นยังไม่เซตตัว มีการทาเฟล็กซ์แดงและดำปิดทับ กลายเป็นฟิล์มไม่ให้เรซิ่นถูกอากาศและแข็งตัว จึงพอที่จะลอกสีออกมาได้ เวลาดำเนินการจะต้องประคองการที่จะไม่ให้เรซิ่นแข็งตัวเร็วขึ้น คือต้องค่อยๆ ลอกสีที่ปิดทับอยู่ทีละส่วน ไม่ลอกออกทีเดียวทั้งหมด ตอนนี้กำลังทดสอบน้ำยาเคมีหลายๆ ตัว เพื่อเลือกใช้ตัวที่มีประสิทธิภาพและป้องกันรักษาชั้นสีเดิมของลายรดน้ำบนบานประตูวิหารวัดหมื่นล้าน

นายเทอดศักดิ์ กล่าวถึงประเด็นที่ลือว่า ประตูวัดนี้อาจจะไม่ใช่ประตูดั้งเดิม จนเกิดกระแสไปมากมายว่าเอาของใหม่มาย้อมหรือไม่ว่า เรื่องนี้ทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นประตูไม้ดั้งเดิมแน่นอน สำหรับด้านการฟื้นฟูให้กลับมานั้น ในวันนี้ได้เตรียมเคมี เพื่อนำมาทดสอบ 17 ชนิด เนื่องจากทางวัดก็ไม่ทราบว่า สีที่ช่างได้ทาทับลงไปนั้นเป็นชนิดไหน ดังนั้น ในวันนี้จึงได้นำน้ำยามาทดสอบว่า สีแต่ละชั้นเป็นสีอะไรบ้าง แล้วมีความบาง ความหนามากน้อยแค่ไหน จากผลการทดสอบก็พบว่า สีชั้นนอกสุดที่ลงรักสีดำ หรือเป็นสีน้ำมันสีดำสามารถลอกออกมาได้ และไม่กระทบสีด้านใน เพราะชั้นที่สองมีชาดสีแดงรองไว้ แต่ก็ไม่หนามาก ส่วนชั้นล่างสุดเป็นสีขาว ที่น่าเป็นห่วงเพราะสีขาวดังกล่าวลักษณะคล้ายกับสีที่นำมาใช้กับการทำสีรถ เป็นอีพ็อกซี่สีขาว

ผอ.กลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 กล่าวอีกว่า แต่ก็โชคดีที่สีรองพื้นยังไม่เซตตัวหรือยังไม่แข็งตัวเต็มที่ เนื่องจากมีชาดสีแดง และรักสีดำชั้นนอกสุด เป็นเหมือนฟิล์มเคลือบไว้ แต่ผลการทดสอบเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ก็พบว่า การจะฟื้นฟูต้องใช้เวลาที่มากพอสมควร แล้วต้องค่อยๆ ทำทีละจุด ไม่สามารถที่จะเปิดรักสีดำ และชาดสีแดงที่ทาทับไว้ทั้งหมดออกทีเดียวได้ เพราะจะเร่งให้อีพ็อกซี่สีขาวที่เป็นสีรองพื้นแข็งตัวเร็วขึ้น หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูภาพดั้งเดิมกลับมาได้ การใช้เวลาฟื้นฟูทีละจุดแม้จะช้า แต่ก็ต้องทำด้วยความใจเย็น ค่อยๆ ลอกสีออกแต่ละชั้น ไม่ให้กระทบกับภาพดั้งเดิม แล้วต้องทำทั้งบาน อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ โดยจะเร่งระดมเจ้าหน้าที่พร้อมน้ำยาเพิ่มเติมเข้ามาดำเนินการให้เร็วที่สุด ต้องแข่งกับเวลาไม่ให้สีเซตตัว

นายเทอดศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ก็ต้องห่วงสุขภาพของเจ้าหน้าที่ ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำยาเคมีด้วย ขณะนี้ ก็มีความมั่นใจอย่างมากที่จะฟื้นฟูให้กลับคืนมา แต่จะถึง 100% ยังไม่สามารถบอกได้ ก็จะทำให้ดีที่สุด ส่วนที่บริเวณฝาผนังทางด้านหลังขององค์พระประธาน ซึ่งก่อนเดิมนั้นมีภาพวาดลวดลายอยู่นั้น จากการสอบถามทางวัดทราบว่าช่างได้มีการฉลุปูนเดิมออกไปแล้ว และได้มีการฉาบปูนใหม่ ตรงจุดนี้นั้นไม่สามารถทำให้กลับคืนมาได้แล้ว แต่สามารถคัดลอกลวดลายศิลปะกลับมาวาดใหม่ให้เหมือนได้แต่จะให้เหมือนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์นั้นคงทำไม่ได้.

อ่านเพิ่มเติม...

Let's block ads! (Why?)


July 29, 2020 at 03:00PM
https://ift.tt/3fcWYD4

กรมศิลป์ฯ ตรวจประตูวิหารโบราณวัดหมื่นล้าน พบยังลอกสีได้ลายเก่ายังอยู่ - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3diZ6Jh
Home To Blog

No comments:

Post a Comment